สีทาไม้แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร และจะเลือกอย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน

สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน เมื่อพูดถึงการสร้างบ้านด้วยงานไม้ ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่เจ้าของบ้านหลายท่านต้องการเลยจริงไหมคะ นั่นเพราะงานไม้ถือเป็นงานที่สวยงามและเหมาะกับการสร้างบ้านอย่างมาก ให้ทั้งความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติและความรู้สึกปลอดโปร่งไปพร้อม ๆ กัน แต่การจะทำงานไม้ให้มีประสิทธิภาพเราจะไม่พูดถึงสีทาไม้เลยก็คงเป็นไปไม่ได้ นั่นเพราะจุดอ่อนที่ร้ายแรงที่สุดของงานไม้คือ อายุการใช้งาน หากไม่มีการดูแลเรื่องสีทาไม้หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มาเคลือบเนื้อไม้ ไม่นานไม้ของท่านจะต้องเกิดปัญหาขึ้นแน่นอน 

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปลวกซึ่งมาคู่กับงานไม้แทบทั้งหมด ปัญหาไม้พองซึ่งจะมาในช่วงหน้าฝน และต่อจากปัญหาไม้พองในช่วงหน้าฝนคือ ไม้ผุกร่อน ยิ่งในประเทศไทยที่แดดร้อนมาก ๆ เวลาไม้พองขึ้นมาก็ทำให้ไม้ผุกร่อนเร็วขึ้น ฉะนั้นผลิตภัณฑ์ทาเคลือบผิวหน้าของไม้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องใส่ใจ

ชนิดของสีทาไม้ไม้มีอะไรบ้าง และช่วยเรื่องอะไรบ้าง 

สำหรับผลิตภัณฑ์ทาเคลือบผิวไม้ส่วนใหญ่แล้วเราจะเรียกกันว่า สีทาไม้ จนติดปาก แต่ความจริงแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถแบ่งแยกย่อยได้อีกเยอะมากเลยค่ะตามรูปแบบการใช้งาน โดยสีทาไม้

สีทาไม้หรือ Wood coating เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของผลิตภัณฑ์ที่เอาไว้ใช้กับงานไม้ทุกประเภทที่มีลักษณะเป็นแบบฟิล์มโปร่งแสง หรืออาจเรียกกันว่าสีย้อมไม้ และมีแบบฟิล์มทึบแสงที่เอาไว้ทาปิดทับลายไม้เดิมทั้งหมด

  1. สีทาไม้

สีทาไม้โดยทั่วไปที่คนเข้าใจกันมักจะหมายถึงผลิตภัณฑ์เคลือบผิวไม้ชนิดฟิล์มทึบแสง ซึ่งปกติแล้วจะใช้เป็นสีน้ำมันประเภทแอลคีดในการทา ข้อดีของการใช้สีทาไม้คือสามารถกลบผิวไม้ได้ 100% แต่ก็มีข้อเสียตามมานั่นคือ กลิ่นสีที่ค่อนข้างแรงมากเพราะโดยทั่วไปจำเป็นจะต้องผสมทินเนอร์ นอกจากนี้ก็ใช้เวลาแห้งค่อนข้างนาน โดยจะอยู่ที่ราว 6-8 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันนี้ก็มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาเป็นทางเลือกสำหรับสีทาไม้ ไม่ว่าจะเป็นสีทาไม้สูตรน้ำหรือสีทาไม้สูตรอะคริลิค ซึ่งมาช่วยกลบจุดด้อยของสีทาไม้แบบปกติ

สีทาไม้สูตรน้ำ เป็นสีทาไม้ประเภททึบแสงที่ให้ฟิล์มกึ่งเงากึ่งด้าน ช่วยป้องกันไม้ให้สวยเงาทนทานต่อสภาวะอากาศได้มากกว่า 10 ปีขึ้นไป มีกลิ่นที่อ่อนกว่า แห้งเร็วกว่า และมีเฉดสีให้เลือกมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อทาไม้สีขาว ไม้สีน้ำตาล หรือเฉดสีอื่น ๆ ก็ได้ค่ะ

สีทาไม้สูตรอะคริลิค สีทาไม้สูตรนี้ความจริงแล้วสามารถทาได้ทุกพื้นผิวเลยค่ะไม่ว่าจะเป็น พื้นผิวเหล็ก ไม้ ปูน จุดเด่นคือแห้งไวภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง มีเฉดสีให้เลือกพอสมควรแต่ก็มีไม่มากเท่ากับสีทาไม้สูตรน้ำค่ะ

  1. สีย้อมไม้

สีย้อมไม้หรือ Wood Stain เป็นสีที่มีเนื้อสีโปร่งแสงจึงเหมาะกับคนที่อยากทาและโชว์ลายไม้สวย ๆ ไม่ต้องการให้สีมากลบลายไม้จนมิดเหมือนกับสีทาไม้ ตัวสีมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูงสามารถยืดหดได้ตามการบิดตัวของเนื้อไม้ จึงทำให้สีชนิดนี้เหมาะกับงานไม้ประเภทแนวตั้ง เช่น งานผนัง งานระแนง งานเชิงชาย งานบัว งานวงกบ งานฝาบ้าน งานประตูหรือหน้าต่าง เป็นต้น โดยสีย้อมไม้มีทั้งแบบเงา กึ่งเงา และแบบด้าน นอกจากนี้ยังมีทั้งแบบมีสีและแบบใสอีกด้วยค่ะ

สีย้อมไม้นอกจากจะช่วยให้ไม้ดูสวยงามมากขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันเนื้อไม้จากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นไม่ว่าจะเป็น ปัญหาจากรังสี UV ที่ทำให้ไม้ลอก ล่อน สีจาง ป้องกันปัญหาน้ำซึมเข้าตัวไม้ ไม้พอง ป้องกันปัญหาเชื้อรา ตะไคร่น้ำต่าง ๆ นอกจากนี้ก็ป้องกันปัญหา มด ปลวก และแมลงกินไม้อื่น ๆ ได้ทั้งหมดเลยค่ะ โดยทั่วไปจะมีขายแบบสูตรน้ำมันและสูตรน้ำ

สีย้อมไม้สูตรน้ำมัน ตัวสีย้อมไม้สูตรน้ำมันจะผลิตมาจากแอลคีดเรซิน จะเหมาะกับงานภายนอกอย่างมากเลยค่ะเนื่องจากต้องปกป้องเนื้อไม้จากสภาพอากาศภายนอกบ้าน โดยสีย้อมไม้สูตรนี้จะมีคุณสมบัติทนแดด ทนฝน เนื่องจากโมเลกุลของเนื้อสีจะซึมลึกเข้าสู่ตัวไม้ได้ดี ยืดหยุ่นสูง และนำมาซึ่งคุณสมบัติเพิ่มเติมคือ ช่วยให้ไม้มีความเงางามสูง เหมาะจะเอาไว้ตกแต่งภายนอกบ้านและอาคาร

สีย้อมไม้สูตรน้ำ สำหรับสีย้อมไม้สูตรนี้เหมาะกับใช้ภายในบ้านอย่างมากเลยค่ะ นั่นเพราะมีคุณสมบัติแห้งไว กลิ่นไม่แรง ถ้าเสร็จสามารถเข้าไปอยู่ได้ในเวลาไม่นาน ตอบโจทย์กับการใช้ภายในมากกว่าแบบสูตรน้ำมัน

นอกจากสีทาไม้แล้วยังมีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เอาไว้ใช้ทาได้กับเนื้อไม้นั่นคือ ยูรีเทนทาไม้ โดยมีเอาไว้สำหรับเคลือบแข็งพื้นไม้หรือท็อปของโต๊ะ ถ้าเปรียบง่าย ๆ ก็เหมือนการเคลือบแก้วรถยนต์นั่นแหละค่ะ ช่วยให้ทนต่อการเหยียบ ทนแรงกระแทก ทนการขูดขีด ทนความร้อนและเย็น และทนสารเคมีในชีวิตประจำวันได้อย่างดี โดยทั่วไปจะใช้กับพื้นบ้านในที่ร่มไม่นิยมทานอกบ้าน มีให้เลือกทั้งแบบเงา กึ่งเอา และแบบด้าน

จบกันไปแล้วค่ะกับชนิดของสีทาไม้ที่เราคลังวัสดุไม้นำมาฝากทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างคะหวังว่าทุกท่านจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับสีทาไม้เพิ่มขึ้นและสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมและความต้องการของบ้านของท่านนะคะ สุดท้ายหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านและสามารถนำไปปรับใช้กันได้นะคะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *